วันนี้ขอเอาใจชาวสายเขียวกันหน่อยนะคะ เพราะกระแสการนำเอากัญชามาแปรรูปและทำเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ เริ่มมีมาอย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นเพราะการปลดล็อกกัญชาที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของกัญชานั้นได้เปลี่ยนไปจากการรับรู้ของผู้คนอย่างที่เคยเป็นมา จึงได้มีการคิดค้นสารพัดเมนู หรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาอย่างมากมาย ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรกันบ้าง ไปลองดูกันได้เลยค่ะ
กัญชานำมาทำอาหารได้จริงหรือไม่ ปลอดภัยจริงหรือ
หลายคนอาจจะกังวลว่าเราสามารถนำกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารได้จริงหรือ จะมีอันตรายหรือไม่ และผิดกฎหมายหรือเปล่า เนื่องจากกัญชาก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 บอกก่อนเลยว่าคนไทยได้มีการนำเอากัญชามาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารมาตั้งแต่สมัยโบราณอยู่แล้วค่ะ โดยเฉพาะการนำเอามาทำเป็นเครื่องปรุงที่ช่วยชูรสชาติของอาหารให้โดดเด่นและมีความกลมกล่อมเพิ่มมากขึ้น อาหารที่มักจะมีส่วนผสมของกัญชาก็จะเป็นพวกน้ำแกงต่าง ๆ เมนูซุป หรือก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง และจากการที่มีการปลดล็อกกัญชา ทำให้เกิดกัญชาเสรีนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ส่วนที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมายนั้นก็คือส่วนของใบ ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใยของกัญชานั่นเอง ส่วนเมล็ดกับช่อดอกนั้นยังถือว่าเป็นยาเสพติดอยู่ ต้องมีการขออนุญาติก่อนใช้ และสามารถใช้ได้ในทางการแพทย์เท่านั้น ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในการใช้อีกด้วย แต่เพื่อความปลอดภัยแล้ว เราสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์จากกัญชาได้จากร้านค้าออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ CBD ที่มีอยู่ในประเทศไทยได้เช่นกัน
เอาใจสายหวาน กับเมนูของหวานจากกัญชา
สำหรับสายหวานนั้นเรียกได้ว่าเข้าทางเลยทีเดียว เพราะว่าในยุคนี้มีการนำเอากัญชามาผลิตเป็นขนมหวานไม่น้อย และยังมีการพัฒนาสูตรขนมหวานต่าง ๆ เพื่อนำเอากัญชามาใช้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น
- บราวนี่กัญชา เมนูขนมอบยอดฮิตที่หลายคนชื่นชอบ เมื่อนำเอากัญชามาเป็นส่วนผสมก็ยิ่งเพิ่มรสชาติให้หวานละมุนมากยิ่งขึ้น
- เยลลี่กัญชา สำหรับคนที่ชื่นชอบการขบเคี้ยว ถูกใจความเด้งดึ๋ง และรสสัมผัสที่นุ่มแต่สู้ลิ้นบอกเลยว่าห้ามพลาดเมนูนี้ รสชาติหวานอมเปรี้ยวเมื่อผสมกับกัญชาเข้าไปก็ยิ่งเพิ่มความหวานทำให้ขนมนี้เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน
- ช็อกโกแลตกัญชา เมนูขนมธรรมดา ๆ แต่เพิ่มกัญชาเข้าไปเป็นส่วนประกอบพิเศษ ก็ยิ่งทำให้มีลูกเล่นที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
- ช็อกบอลกัญชา เมนูขนมที่ทำเองได้ง่าย ๆ แบบไม่ต้องพึ่งเตาอบ ใช้วัตถุดิบไม่เยอะ แถมรสชาติดีอีกด้วย
- ไอศกรีมกัญชา อากาศร้อน ๆ ถ้ามีของหวานเย็น ๆ มากินดับร้อนก็คงดีไม่น้อย เมนูนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี แถมเพิ่มกัญชาเข้าไปทำให้ความหวานละมุนมากกว่าเดิม และยังทำให้อารมณ์ดีด้วยนะ ร้อนแค่ไหนก็ไม่กลัวแล้ว
- ขนมครกกัญชา เมนูขนมที่เห็นได้ทั่วไป เพียงแค่นำกัญชามาใส่เพิ่มมูลค่าก็ทำให้รู้สึกแปลกใหม่ได้แล้ว เรียกได้ว่าน่าลองไม่น้อยเลยนะคะ
- พุดดิ้งกัญชา ขนมที่มีรสสัมผัสหวาน ๆ นุ่ม ๆ เมื่อได้ลองเพิ่มกัญชาเข้าไปก็ทำให้รสชาติละมุนเพิ่มมากขึ้น แถมถ้าได้กินตอนเย็น ๆ ก็จะยิ่งชื่นใจขึ้นไปอีก
- ขนมปังกรอบกัญชา เป็นการนำเอากัญชามาผสมได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน เพราะหลายคนคุ้นเคยกับเมนูขนมปังกรอบอยู่แล้ว การนำเอากัญชามาทำเป็นหน้าของขนมปังกรอบก็เพิ่มความน่าสนใจและน่ากินเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้ขนมปังธรรมดาดูมีอะไรที่พิเศษเพิ่มมากขึ้น
- วาฟเฟิลกัญชา อาหารเช้าที่น่าเบื่อ ลองเพิ่มกัญชาเข้าไปก็ทำให้เกิดเมนูใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้น แถมยังช่วยทำให้ยามเช้าของคุณสดใสยิ่งกว่าเดิม พร้อมเริ่มทำกิจกรรมในแต่ละวันอีกด้วย
- สมูตตี้กัญชา เครื่องดื่มที่ช่วยดับร้อนได้เป็นอย่างดี แถมยังมีประโยชน์จากผักและผลไม้ต่าง ๆ เพียงแค่ลองเพิ่มกัญชาเข้าไป ก็จะเพิ่มประโยชน์ของเมนูนี้ได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าแต่ละเมนูมีความหลากหลายและน่ารับประทานเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเอาใจชาวสายเขียวและสายหวานไปพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว และไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีการพัฒนาสูตรขนมหวานที่มีส่วนผสมของกัญชาออกมาอีกเรื่อย ๆ มารอติดตามกันได้เลยว่าในอนาคตจะมีเมนูไหนมาเอาใจคนรักขนมกันอีกนะคะ
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชา
นอกจากเมนูอาหารทั้งของคาวและของหวานแล้ว กัญชายังสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นต้น โดยผู้ผลิตได้มีการนำกัญชามาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น
- น้ำมันกัญชา หรือ สารสกัดเข้มข้นจากต้นกัญชาที่นำมาทำให้เจือจางลง สามารถนำไปใช้รักษาโรคบางชนิดได้ เช่น หยอดหู หยอดตา รักษาสิว แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ทางที่ดีควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้
- เนยกัญชา หรือ คานนาบัตเตอร์ เนื่องจากมีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมของขนมหวานหลายชนิด จริงมีการผลิตเนยกัญชาขึ้นมาเพื่อใช้ในการทำขนมด้วยเช่นกัน ทำให้รสชาติของขนมนั้นมีความกลมกล่อมเพิ่มมากขึ้น
- สเปรย์กัญชา เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่คล้าย ๆ กับน้ำมันกัญชา แต่ทำเป็นรูปแบบสเปรย์เพื่อให้ใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้ฉีดพ่นในช่องปากเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยมะเร็ง
- ชาจากกัญชา อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาตอบโจทย์ของคนที่ชอบดื่มชา โดยชากัญชานี้จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ดับกระหาย และทำให้อารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย
- น้ำผึ้งกัญชา ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ชาวบ้านวิสาหกิจชุมชน จ.ตรัง ช่วยกันคิดค้นวิธีการนำกัญชามาดองในน้ำผึ้ง เป็นการแปรรูปกัญชาอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก และยังช่วยให้ชุมชนเกิดรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
- ยาทาทางผิวหนังจากกัญชา เป็นการนำเอาสารสกัดของกัญชามาใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการเจ็บปวด โดยมีรูปแบบเป็นครีมทำบนผิวหนังและแผ่นแปะบรรเทาปวด
- เสื้อผ้าจากเส้นใยกัญชา นอกจากใช้รับประทานแล้ว ในกลุ่มโรงงานอุตสาหรรมก็ได้นำเอาเส้นใยของต้นกัญชามาใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มได้อีกด้วย เรียกได้ว่ามีประโยชน์ทุกส่วนเลยทีเดียว
กินกัญชาอย่างไรให้ปลอดภัย
ในกัญชานั้นจะมีสารที่ออกฤทธ์หลัก ๆ อยู่ 2 ประเภท คือ THC (Delta-9-Tetra-Hydrocanabinol) และ CBD (Canabidiol) โดยเจ้าตัว THC หรือที่เรียกอีกอย่างว่าสารเมานี้ จะมีฤทธ์ต่อระบบประสาท ส่วน CBD นั้นจะไม่มีฤทธ์ต่อระบบประสาท ส่วนใหญ่ในต่างประเทศจะนำมาใช้ประกอบอาหารกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่กัญชาที่พบจะมีสาร THC มากกว่า CBD โดยมักจะพบในใบกัญชาแบบแห้ง ส่วนใบกัญชาสดนั้น จะพบสาร THCA (Tetrahydrocannabinolic Acid) นี้ ซึ่งสาร THCA สามารถเปลี่ยนเป็น THC ได้ก็ต่อเมื่อโดนแสงหรือความร้อนนั่นเอง
ซึ่งหัวใจสำคัญในการนำเอากัญชามาทำอาหารอยู่ที่ตรงนี้แหละค่ะ เพราะสาร THC หรือสารเมานี้ จะมีฤทธิ์ทำให้คนที่รับประทานเข้าไปนั้นมีอาการเคลิบเคลิ้ม อารมณ์ดี หัวเราะร่าเริง จนไปถึงอาการมึนเมา เวลานำเอาใบกัญชาสดที่มีสาร THCA มาใช้ จึงต้องนำไปผ่านความร้อน เช่นการทอด หรืออบให้แห้งเสียก่อน เพื่อที่จะทำการเปลี่ยนสาร THCA ให้เป็น THC แต่ต้องระมัดระวังเรื่องของปริมาณสารที่ได้รับอีกด้วย เพราะยิ่งผ่านความร้อนมาก เจ้าสาร THC นี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างการเช่นกัน
แม้ว่าจะมีการปลดล็อกกัญชาทำให้เกิดกัญชาเสรีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่รับรอง ดังนั้นก่อนที่จะหาซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชามาทดลองใช้ ควรศึกษาข้อมูลให้รอบครอบก่อน และที่สำคัญคือ เด็ก สตรีมีครรภ์ แม่ที่ให้นมบุตร และผู้ที่มีโรคประจำตัวร้ายแรงยังไม่สามารถใช้กัญชาได้โดยเด็ดขาดนะคะ